1571970305880

สกสว. ส่งไม้ต่อ “ทุน คปก.” ให้ วช. สานต่อเจตนารมณ์ “พัฒนากำลังพลคนวิจัย”


สกสว. – วช. ย้ำชัดความเข้มแข็งในการบริหารจัดการที่ยังผลสูงสุดเพื่อผลิตนักศึกษาปริญญาเอก ที่มีศักยภาพมาพัฒนาประเทศ หลังส่งไม้ต่อการทำงานบริหารทุน คปก.

 

1571970305880                 1571970308028

 

วันนี้ (24 ตุลาคม 2562) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานแถลงข่าว “การโอนภารกิจทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 22 และ การส่งมอบทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 20 และ 21” ณ ห้องประชุม สกสว. อาคารเอ็ม เอ็ม ทาวเวอร์

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล กิตติศุภกร ผอ.ภารกิจ การบริหารผลงานเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรมองค์กร กำกับดูแล โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยขาดแคลนนักวิจัยระดับปริญญาเอกอย่างรุนแรง ทำให้มีความอ่อนแอด้านการวิจัยและการพัฒนา รวมทั้งมีผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในปี พ.ศ.2539 สกว. (สกสว.เดิม)  ได้รับมอบหมายให้จัดทำ “โครงการสนับสนุนการผลิตงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอกให้ทันความต้องการของประเทศใน 25 ปีข้างหน้า; Vision 2020”  โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 และเริ่มดำเนินการในปีฉลองกาญจนาภิเษกของการครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9  จึงได้รับการจัดให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ และมีชื่อว่า “โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)” ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดต่อคุณภาพที่เข้มงวดและระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึง 2562 คปก. จัดสรรทุนไปแล้ว 21 รุ่น ในทุกสาขาวิชา (ประมาณ 250 ทุน/ปี) มีนักศึกษาที่ได้รับทุนทั้งสิ้น 5,168 คน   ผลงานตีพิมพ์นานาชาติ 8,584 เรื่อง  มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกประมาณ 3,600 คน

โครงการ คปก. มีผลดำเนินงานที่ยังประโยชน์ต่อประเทศไทย คือ

1. ทุน คปก. ทำให้การเรียนต่อปริญญาเอกในประเทศมีการตื่นตัว และดุษฎีบัณฑิตที่ผลิตขึ้นในประเทศได้รับการยอมรับ  โดยดุษฎีบัณฑิต คปก.  ได้เข้าทำงานในหลายภาคส่วนและมีบทบาทอย่างชัดเจนในการพัฒนาประเทศ โดยดุษฎีบัณฑิต คปก. ร้อยละ 50 ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาจารย์และสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยให้มหาวิทยาลัย ร้อยละ 16 ได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและวิชาการให้หน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 9 ได้เข้าปฏิบัติงานในภาคเอกชน ซึ่งมีบทบาทพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้สูง และประมาณร้อยละ 7 ที่ไปทำวิจัยในต่างประเทศจะมีบทบาทในการนำความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ กลับมาพัฒนาประเทศ

2.ผลงานวิจัยของนักศึกษา คปก. เป็นองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ  และบางส่วนสามารถพัฒนาต่อยอดด้วยการวิจัยประยุกต์เพื่อใช้ประโยชน์ได้  สร้างความเข้มแข็งเชิงวิชาการในระดับประเทศและนานาชาติ

3. ทุนคปก. เปิดโอกาสให้นักศึกษาผู้รับทุนไปทำงานวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศ ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลก

4. ประหยัดงบประมาณของชาติในการผลิตกำลังคนระดับสูงให้ประเทศอย่างมาก เนื่องจากโครงการดังกล่าว ให้ทุนละประมาณ 2 ล้านบาทต่อการผลิตบัณฑิตปริญญาเอกหนึ่งคน ซึ่งต่ำกว่าทุนที่ส่งนักศึกษาไปเรียนในต่างประเทศ ถึง 3เท่า (5-7 ล้านบาท/ทุน)

ศาสตราจารย์ นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้มีประกาศเรื่อง “พรบ. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562” ได้กำหนดให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปฏิบัติหน้าที่เป็น “สกสว.” เพื่อจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ “ววน.” ของประเทศให้มีเอกภาพ ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานในระบบ ววน. ผ่าน “กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ภายใต้การบริหารจัดการของ สกสว. ที่ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก จึงเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไปตามพันธกิจใหม่ด้วย

ทั้งนี้สำหรับทุน คปก. รุ่นที่ 20 และ 21 ที่จัดสรรทุนไปแล้วนั้น งบประมาณในปี 2563 สำนักงบประมาณจะจัดสรรให้กับ วช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบทุน คปก. เพื่อดำเนินการเบิกจ่ายเงินงวด การติดตามความก้าวหน้า การอนุมัติแผนและงบประมาณการเดินทางไปต่างประเทศของนักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษา และการเดินทางมาประเทศไทยของอาจารย์ต่างประเทศ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับทุน คปก. ในวันนี้ สกสว. จึงขอส่งมอบโครงการและงบประมาณของ ทุน คปก. รุ่นที่ 20 จำนวน 231 ทุน และ 21 จำนวน 221 ทุน รวมทั้งสิ้น 452 ทุน พร้อมโอนภารกิจทุน คปก.รุ่นที่ 22 ให้กับ วช. พร้อมสร้างความเข้าใจ ถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการงานวิจัย (Research Management) ทุนดังกล่าวให้กับบุคลากรของ วช. เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงานวิจัยที่คงประสิทธิภาพในการพัฒนากำลังบุคลากรที่มีความสามารถ รองรับการพัฒนาประเทศต่อไป

“วช. ต้องขอขอบคุณทางผู้บริหาร สกสว. และเจ้าหน้าที่โครงการ คปก.ที่บริหารจัดการทุนวิจัยนี้เป็นอย่างดีในช่วงตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ทางเราตั้งมั่นว่าจะบริหารทุนนี้อย่างไร้รอยต่อ พร้อมผนึกกำลังบูรณาการทำงานร่วมกันในการสร้างโจทย์และกำหนดทิศทางการพัฒนากำลังคน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศต่อไป”  ศาสตราจารย์ นพ. สิริฤกษ์ ทรงวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวเสริม

< ประกาศทั้งหมด