rgjphd-logo-large-padded

ความเป็นมาของ คปก.

โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) เป็นโครงการของรัฐที่ให้ทุนวิจัยระดับปริญญาเอก (Ph.D. Research Fellowship) เพื่อผลิตผลงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอกที่มีคุณภาพสูงในมหาวิทยาลัยไทยให้ได้มาตรฐานสากล บริหารจัดการโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดต่อคุณภาพที่เข้มงวดและระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

คปก. เกิดจากการประชุมร่วมกันของ 4 หน่วยงานสนับสนุนการวิจัย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สวทช. และ สกว. เมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งมีความเห็นว่า ประเทศไทยขาดแคลนนักวิจัยระดับปริญญาเอกอย่างรุนแรง ทำให้มีความอ่อนแอด้านการวิจัยและการพัฒนา รวมทั้งมีผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมีมติเสนอให้ สกว. รับภาระในการผลิตนักวิจัยใหม่ เนื่องจากเป็นปัญหาหลักของประเทศ

สกว. โดยความร่วมมือของ สวทช. และ สกอ. (ทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น) ได้เสนอ “โครงการสนับสนุนการผลิตงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอกให้ทันความต้องการของประเทศใน 25 ปีข้างหน้า "Vision 2020" ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539  เนื่องจากโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในปีซึ่งเป็นปีฉลองกาญจนาภิเษกของการครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงได้รับการจัดให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ และมีชื่อว่า “โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)”

 

วัตถุประสงค์

1)         เพื่อผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอกและผลงานวิจัยให้ได้มาตรฐานสากล

2)         เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่บัณฑิตศึกษาในประเทศให้ได้มาตรฐานสากล

3)         เพื่อประหยัดเงินตราในการให้ทุนการศึกษาปริญญาเอกเพื่อไปศึกษาในต่างประเทศ

4)         เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและสถาบันทั้งภายในและภายนอกประเทศ

 

illustrations-04

เป้าหมาย

แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1.1 (พ.ศ. 2541 – 2555)
ผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอก 5,000 คน และผลงานวิจัย 5,000 เรื่อง

ระยะที่ 1.2 (พ.ศ. 2551 – 2565)
ผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอก 20,000 คน และผลงานวิจัย 20,000 เรื่อง

 

 

รูปแบบการดำเนินการ 

คปก. มุ่งผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีศักยภาพในการทำวิจัย จึงให้ความสำคัญกับมาตรฐานของอาจารย์ที่ปรึกษา นักศึกษา และผลงานวิจัย โดยอาจารย์ที่ปรึกษาต้องเป็นผู้ที่ทำวิจัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ นักศึกษาซึ่งเป็น “ผู้ช่วยวิจัย” ต้องมีผลการเรียนดี และ/หรือมีผลงานวิจัย ตามความเห็นชอบของ คปก. ใช้เวลาทำวิจัยส่วนใหญ่ในประเทศไทยด้วยโจทย์วิจัยของไทยและมีโอกาสไปทำวิจัยระยะสั้น (6-12 เดือน) กับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในต่างประเทศ และยังสามารถไปนำเสนอผลงานวิจัยในที่ประชุมวิชาการนานาชาติได้ นักศึกษาจะสำเร็จการศึกษาเมื่อมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ สกว. ยอมรับ

 

illustrations-05